คนไทย 3 ใน 4 เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต การบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการ ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละกว่า 20,000 คน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลดการบริโภคเค็มจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกิน และช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้อีกด้วย
โซเดียม (Na) คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ตลอดจนการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก
โซเดียม มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เมื่อได้รับมากเกินไปจะมีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน เมื่อโซเดียมในเลือดสูง จะดูดน้ำเข้าสู่หลอดเลือดเพื่อเจือจาง ทำให้แรงดันเลือดสูงขึ้น การรับประทานเค็ม หรือโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกายเป็นประจำ จะส่งผลทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก อัมพาต อัมพฤกษ์
ปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้โดยไม่เกิดอันตรายนั้น ควรได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน โซเดียม พบได้ในอาหารธรรมชาติประมาณน้อยมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราจะได้รับโซเดียมปริมาณมากจากอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสเป็นหลัก
วิธีการลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
1. ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่ม เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ ซอสต่าง ๆ
2. เลือกรับประทานอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด
3. ปรุงอาหารด้วยตนเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรตวงก่อนปรุงรสทุกครั้ง
4. ลดใช้เครื่องปรุงในอาหาร เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ้ว ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว
5. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด
6. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
7. ใช้รสชาติอื่นทดแทน เช่น รสเปรี้ยว และรสเผ็ด
8. ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นหอมของอาหาร
9. ระวังเกลือที่ซ่อนอยู่ในอาหาร อย่างเช่น ผงฟู ผงปรุงรส ผงชูรส